TMA และสภาพัฒน์ เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันจาก IMD
ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 30
กรุงเทพฯ – สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ซึ่งทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มเดิมแต่มีการสลับตำแหน่ง โดยสหรัฐอเมริกาเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 ตามมาด้วยฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์
สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจคือสิงคโปร์มีอันดับคงที่ที่อันดับ 3 มาเลเซียอันดับขยับดีขึ้นจาก 24 เป็นอันดับที่ 22 และมีอันดับลดลง 3 เขตเศรษฐกิจได้แก่ ไทย ที่มีอันดับลดลงจาก 27 เป็น 30 อินโดนีเซียจากอันดับที่ 42 เป็น 43 และฟิลิปปินส์จากอันดับที่ 41 เป็น 50
เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีผลการจัดอันดับดีขึ้น 1 ด้าน เท่าเดิม 2 ด้าน และลดลง 1 ด้าน โดยด้านที่ดีขึ้นได้แก่โครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจคงเดิม ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับลดลง
นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีนี้แม้ว่าผลการจัดอันดับในภาพรวมจะลดลงแต่ในองค์ประกอบนั้นมีดีขึ้น 1 ด้าน และสามารถรักษาอันดับไว้
ใน.2.ด้านคือด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพภาคเอกชน สำหรับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ซึ่งมีอันดับลดลงจาก 22 ในปีที่แล้วเป็น 24 ในปีนี้นั้น เป็นผลมาจากการขาดดุลต่อเนื่องเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้มีการเฝ้าระมัดระวังในการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง รวมทั้งกำกับดูแลให้การใช้งบประมาณภาครัฐก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าอยู่อย่างต่อเนื่องแล้วภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง สำหรับการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจก็ส่งผลให้อันดับด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (business legislation) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง.2.อันดับ และรัฐบาลก็มีแนวทางที่จะดำเนินการให้เกิดผลอย่างกว้างขวางมากขึ้นต่อไปในด้านการปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย คล่องตัว และการใช้ดิจิทัลในการให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยที่เป็นพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน
ด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) และ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ กพข. กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับในปีนี้ถึงแม้อันดับในภาพรวมจะลดลง แต่จะเห็นได้ว่าประเด็นที่เป็นการวางรากฐานในระยะยาวคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัฐบาลพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอันดับดีขึ้นในเกือบทุกเรื่อง ในขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (mega projects) ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 อาจส่งผลต่อการจัดอันดับได้เฉพาะในบางด้านในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นที่รัฐบาลยังคงต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทางด้านสังคม การศึกษา และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ
“ทั้งนี้ ในวันที่ 11 - 12 กรกฎาคม 2561 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ภายใต้หัวข้อ Powering Thailand Competitiveness Through Digital Transformation ที่มุ่งเน้นการปรับตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการในภาครัฐและสร้างความสามารถของภาคธุรกิจในการแข่งขันในระดับสากล” นายเทวินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
*************************************
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)
วิทยา วงศ์หล่อ (ปิ๊ก) ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ เบอร์โทร. 080 022 9999 , E-mail : wittaya@tma.or.th
ภัณฑิรา สร้อยมงคลศรี (ตา) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ เบอร์โทร.095 829 8794 , E-mail: phantira@tma.or.th
Gap Year หมายถึง การเว้นช่วงเวลาระหว่างการเรียนต่อมหาวิทยาลัยกับมัธยมปลายโดยให้ไปเที่ยวหาประสบการณ์ ค้นหาตนเองตลอดจนเรียนรู้ชีวิตก่อนที่จะเริ่มเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยปกติเป็นเวลาหนึ่งปี “gap year” กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีปรัชญาในการสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี เพื่อป้อนเข้าสู่โลกการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเจ้าของกิจการต่างต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความสามารถที่หลากหลาย โดยการที่ มทร.พระนคร มีเครือข่ายและนักศึกษาอยู่ทั่วประเทศนั้น จะช่วยให้การพัฒนาและสร้างกำลังคน (Workforce) ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างครบวงจร รวมทั้งอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการรวมตัวของผู้ประกอบการในการติดต่อค้าขายระหว่างกันด้วย
EEC เป็นโครงการเรือธงแห่งยุคที่จะพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง ซึ่งหากต้องการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืนจะต้องเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างการมีส่วนร่วม
19 ธันวาคม 2561 เวลา 14.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้กำหนดและติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐ และการนำระบบบริหารการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (TPMAP) ระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการให้บริการสวัสดิการภาครัฐให้เข้าสู่ยุค 4.0 ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูลสวัสดิการภาครัฐอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริงได้ถูกตัว