วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
ประธานดำเนินรายการ ดร. อาชว์ เตาลานนท์ - กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้ดำเนินรายการ นางสาวลดาวัลย์ คำภา - รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อทางเศรษฐกิจไทยสูง มี GDP คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของ GDP ทั้งประเทศ โดยร้อยละ 10.5 มาจากภาคการเกษตรซึ่งมีแรงงานคิดเป็นร้อยละ 41.1 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ (2554) และร้อยละ 4.1 มาจากอุตสาหกรรมอาหาร มีการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหารและสินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมรวม 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด ซึ่ง 5 อันดับแรกของสินค้าส่งออกการเกษตรที่มีมูลค่าสินค้ามากที่สุดได้แก่ ยางธรรมชาติ ข้าว ปลา มันสำปะหลัง และน้ำตาล (2557)
ปัญหา
ในด้านการเกษตร ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการผลิตสินค้าการเกษตรต่ำกว่าประเทศคู่แข่งและใช้ต้นทุนสูง เนื่องจาก
1. ฐานการผลิตทั้งปัจจัยดินและแหล่งน้ำมีความเสื่อมโทรม รวมถึงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงของภัยธรรมชาติเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และโรคศัตรูพืชระบาด
2. เกษตรกรเข้าสู่สังคมสูงอายุ ประกอบกับลูกหลานของเกษตรกรหันไปประกอบอาชีพในภาคการผลิตอื่น ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร
3. ขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้ได้มาตรฐานทั่วไปและมาตรฐานเฉพาะ
4. เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินความจำเป็น
5. การลงทุนด้านวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรยังต่ำมาก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน และ
6. ระบบโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อาหารยังขาดการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ต้นทุนสูง ปัจจัยเหล่านี้ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และมีการสูญเสียที่ดินทำกินและเปลี่ยนสถานะเป็นเกษตรรับจ้างหรือผู้เช่ามากขึ้น
ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ปัญหาหลักคือความสามารถในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารของ SMEs มีต่ำมาก (ผลผลิต 75% ของอุตสาหกรรมอาหารมาจากการผลิตของกิจการขนาดใหญ่หรือ LEs และส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของชาวต่างขาติ แม้ว่าสัดส่วนของ SMEs จะมีถึง 99.5% ของอุตสาหกรรมอาหารไทยก็ตาม) และการมีต้นทุนการผลิตที่สูงและวัตถุดิบไม่สอดคล้องกับความต้องการ อันเนื่องมาจาก
1. การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและโรงงานไม่มากเท่าที่ควร ทำให้มีผลต่อวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต
2. วัตถุดิบเข้าสู่โรงงานไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตและไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ต้องการ รวมทั้งมีสารเคมีและสิ่งสกปรกปนเปื้อน
3. การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มมีน้อย
4. โรงงานแปรรูปยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐานโรงงาน
5. มาตรฐานสินค้าอาหารในประเทศยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเท่าที่ควร ทำให้การส่งออกสินค้าบางประเภทต้องผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น และ
6. แนวโน้มตลาดอาหารและเครื่องดื่มของโลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคในตลาดโลกกำลังเปลี่ยนไป นอกจากนี้ในด้านของผู้บริโภค ยังพบว่ามีจำนวนผู้ขาดสารอาหารถึง 10.7 ล้านคน (2547-2549) ครัวเรือนในเขตชนบทและเมืองมีความสามารถในการซื้ออาหารน้อยลง อาหารมีการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ พิษจากโลหะหนัก และสารเคมีทางการเกษตรเกินมาตรฐาน
แนวทางการแก้ปัญหาและการพัฒนา
รัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายในการ
1. จัดระบบการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนให้แต่ละพื้นที่ ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อวางแผนการผลิตและลดต้นทุนแรงงานที่ขาดแคลน ส่งเสริมการทำระบบการเลี้ยงปศุสัตว์และประมงอย่างยืน และส่งเสริมการใช้กลไกตลาดเพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่นการจัดตั้งกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตร
2. มีการตั้งเป้าหมายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคุ้มครองและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยปรับโครงสร้างระบบน้ำให้เอื้อต่อการทำเกษตร
3. มีการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานด้านการเกษตรเพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาภาคเกษตรและระบบโลจิสติกส์เพื่อเข้าถึงตลาดมากขึ้น
4. มีการตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตทางการเกษตรในลักษณะสถาบันเกษตรกร เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิต
5. มีการตั้งเป้าหมายในการสร้างบุคคลากรด้านการเกษตร โดยเน้นที่เกษตรกรรุ่นใหม่และจัดทำหลักสูตรเพื่อสร้างเกษตรกรให้มีความรู้อย่างครบวงจรในด้านการเกษตรกรรม เปิดโอกาสให้บุตรของเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำการเกษตรมีความต้องการในการสานต่องานเกษตรกรรมเป็นอันดับแรก
6. มีการตั้งเป้าหมายในการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และแหล่งน้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
7. มีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคเกษตรโดยการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าสูง มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ลดระดับการผลิตสินค้าขั้นปฐมที่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนากระบวนการผลิต และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ
8. มีการตั้งเป้าหมายในการเร่งพัฒนาและขับเคลื่อนการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง โดยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้แตกต่างจากสินค้าเกษตรเคมี พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานและการพิสูจน์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และจัดทำโซนนิ่งระบบเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับเกษตรกรรมยั่งยืน และ
9. มีการตั้งเป้าหมายในการจัดทำแผนแม่บทภาคเกษตรให้ความยั่งยืน เพื่อบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้รัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ หน่วยงาน และยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อที่จะมาดูแลแก้ไขปัญหาและสนับสนุนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเช่น คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร คณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรที่สำคัญ ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยอาหารและโภชนาการเพื่อความมั่นคงทางอาหารด้านสาธารณสุขปี 2555 – 2559 เป็นต้น โดยจะใช้กลไกที่มีอยู่แล้วเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรและอาหารเป็นหลัก
ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมและข้อเสนอแนะ
1. ภาพรวม
ภาคเกษตรไทยใช้ต้นทุนสูงแต่จำนวนผลผลิตกลับต่ำ เนื่องจากภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการเกษตรไม่ผลักดันและแก้ไขอย่างจริงจัง รวมทั้งภาคเกษตรไทยมองข้ามศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานี้ (โดยสามารถนำตัวอย่าง “800 บาทต่อ 1 ตัน”ของเกษตรกรไปใช้โดยรวมได้) นอกเหนือจากนี้ ควรส่งเสริมการจัดหารายได้และสร้างมูลค่าทางการเกษตรเพิ่มให้เกษตรกรด้วยการส่งเสริมการสร้างและใช้นวัตกรรมในการทำเกษตรและแปรรูป เนื่องจากการขายวัตถุดิบ (primary product) เพียงอย่างเดียวสร้างรายได้น้อย ดังนั้นควรมีการเพิ่มงบประมาณแผ่นดินในเรื่องภาคการเกษตรและนำการเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งสมาคมการเกษตรเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการร่วมมือของเกษตรกร มีการหาตลาดเพิ่มเพิ่ม (โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่เยอะเช่นประเทศทางตอนใต้และประเทศทางตะวันตกของไทย) และมีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจที่ชายแดน (พร้อมการสร้างการคมนาคมเช่น รถไฟความเร็วเชื่อมตัวภูมิกาค) เนื่องจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรพูดเรื่องอาหารด้วย อย่ามองแต่การเกษตรอย่างเดียว สำหรับส่วนของแผนพัฒนาฯ 12 ควรรวมเรื่องเกี่ยวกับที่ดินทำการเกษตร ทั้งเรื่องสิทธิและการจัดการที่ดิน เป็นต้น และในขณะเดียวกัน ก็ควรเพิ่มธรรมะเข้าไปด้วย เนื่องจากถ้าไม่มีธรรมะ แผนพัฒนาฯ 12 ก็จะเหมือนรถที่ไม่มีเบรค แต่ทั้งนี้ต้องมาดูว่าจะใส่อย่างไร
2. แรงงาน
ภาครัฐขาดประสิทธิภาพในการสนับสนุนด้านเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย แรงงานรุ่นใหม่จึงไม่ต้องการที่จะทำการเกษตรเนื่องจากขาดแรงจูงใจ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมาดูแลเรื่องนี้ (โดยตัวอย่างการสนับสนุนภาคการเกษตรของต่างประเทศคือประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลสนับสนุนให้บ้านและเงินแก่ผู้ที่มาทำการเกษตร) ในส่วนของภาคการศึกษานั้น ควรมีการส่งเสริมแรงจูงใจให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรกรรมโดยอาจจะให้ทุนการศึกษาเป็นต้น และควรมีการออกใบปริญญาตรีการเกษตรให้แก่เกษตรกร เนื่องจากมีความรู้มากกว่านักศึกษาที่จบปริญญาตรีด้านการเกษตร และสำหรับประเด็นที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น ภาครัฐควรทำนโยบายเพิ่มประชากร การนำเข้าประชากร และการแบ่งประชากรระหว่างภาค เพื่อมาทดแทนแรงงานภาคเกษตรกรของไทย
3. การสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ภาครัฐมีช่องทางการสื่อสารสำหรับเกษตรกรน้อยและไม่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการสนับสนุนในเรื่องการสื่อสารของภาครัฐสำหรับภาคการเกษตร ทำให้เกษตรกรไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เช่นในเรื่องของกองทุน สารชีวพันธ์ (ซึ่งเป็นตัวทดแทนสารเคมี) นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคที่มาจากเกษตรเคมี (Chemical Agriculture) ออกไปเพื่อคุ้มครองชีวิตผู้บริโภค มีการแนะนำออกสื่อสำหรับมาตราการในการเตรียมตัวรับมือของภาคการเกษตรเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเช่น ผลกระทบของค่าเงินที่ไม่เท่ากันต่อการค้า ดังนั้นควรมีการเพิ่มงบประมาณด้านการสื่อสารเกี่ยวกับภาคการเกษตร
4. น้ำ
ถึงแม้ว่าน้ำจะเป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับภาคการเกษตร ภาครัฐก็ยังขาดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาวและทฤษฎีการโดยเฉพาะทฤษฎีขุดบ่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่มีใครนำไปผลักดันใช้เลย และควรมีการกระจายน้ำจากหนองสาธารณะไปสู่ที่ทำการเกษตร 40 – 50 ไร่ต่อ 1 หนองน้ำแล้วแต่ศักยภาพของหนองน้ำนั้นๆ และควรมีการตรวจคุณภาพของน้ำและการชลประทานด้วย นอกจากนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลและแก้ไขเรื่องอุทกภัย เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการทำการเกษตรด้วย
5. การเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture)
เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการทำ เนื่องจากมีต้นทุนในการทำสูงกว่าการใช้สารเคมี แต่ขายได้ราคาเท่ากัน ดังนั้นภาครัฐจึงต้องทำนโยบายพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีกลยุทธ์สำหรับหน่วยงานในการทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุนในการทำ เพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่ไร่ของการเกษตรอินทรีย์ และเพื่อทำให้การเกษตรอินทรีย์เป็นสินค้าราคาแพง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยจะสามารถมาช่วยเรื่องนี้ได้อย่างมาก ในขณะเดียวกัน ต้องมีการควบคุมและจำกัดการใช้สารเคมีของภาคเกษตร เพื่อความปลอดภัยของอาหารและผู้บริโภค เนื่องจากเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นปัจจัยหลักของความปลอดภัยของอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นครัวโลก เพราะทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดย ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยรั้งอยู่อันดับที่ 58 ของโลกตามจำนวนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ ประเทศที่มีความสามารถทางด้านการเกษตรต่างๆ ทั่วโลกได้ออกกฎห้ามมิให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรกันแล้ว ประเทศไทยจึงต้องทำนโยบายเชิงรุกและให้งบประมาณ ในขณะเดียวกัน ควรมีกฎหมายมาคุ้มครองเกี่ยวกับโรคต่างๆ ของพืชด้วยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร สำหรับในส่วนของภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องทำหลักสูตรทั้งเกษตรอินทรีย์ และเกษตรเคมีเนื่องจากถ้ามีแต่หลักสูตรเกษตรเคมี บัณฑิตที่จบออกมาจะไม่มีความสามารถในการทำการเกษตรอินทรีย์ได้เลย
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีนักธุรกิจใจบุญมากมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อาทิ จอห์น ดี. ร็อกเกอะเฟลเลอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของกิจการน้ำมันผู้ร่ำรวย และ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ มาจนถึงผู้นำธุรกิจในยุคปัจจุบันอย่างบิลและเมลินดา เกตส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสำหรับช่วยเหลือคนในประเทศกำลังพัฒนา และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลก ราชานักลงทุนและเจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway
กล่าวได้ว่าสุขภาพนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบร่างสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพได้รับการพัฒนาผ่านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค แม้ว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อการมีสุขภาพที่ยั่งยืนจะเพิ่มขึ้น แต่เราสามารถคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลกที่แข็งแกร่งสิบปีนับจากนี้ได้ โดยเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจด้านสุขภาพระดับโลกในปี พ.ศ. 2569 ไม่เพียงเป็นการผลิตสินค้าและบริการด้านสุขภาพสำหรับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ในระบบเศรษฐกิจนี้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาสุขภาพสำหรับคนจำนวนมากเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ยังถือเป็นการลงทุนอีกด้วย