แนวทางเพื่อพลิกฟื้นอนาคตตลาดแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19
(The future of work is here: 5 ways to reset labour markets after coronavirus recovery)
1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 กลายเป็นวันแรงงานสากลที่โลกต้องจดจำ เพราะเป็นวันแรงงานในช่วงที่โรคระบาดกำลังลุกลามทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างกว้างขวาง โดย International Labour Organization (ILO) ได้คาดการณ์ว่าประชากรในวัยแรงงานเกือบ 1.5 พันล้านคน ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียช่องทางทำมาหากิน
การล็อกดาวน์หรือปิดเมืองทำให้เกิดปรากฏการณ์ทำงานรูปแบบใหม่จากนอกสถานที่ระบบอัตโนมัติ (Automation) ถูกนำมาใช้มากขึ้น “เศรษฐกิจใส่ใจ” หรือ “Care Economy”[1] ทั่วโลก ได้รับความสนใจมากขึ้น และเรามองเห็นข้อเสียของ Gig Economy[2] ซึ่งผู้ที่มิได้ทำงานประจำ ขาดความคุ้มครองทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการหาเลี้ยงชีพหรือดำรงชีพ
นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ได้นำพา “งานในอนาคต” มาถึงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับแรงงานหลายคน เมื่อหลายองค์กรถูกสถานการณ์บังคับให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยใช้เทคโนโลยี แม้จะมีสัญญาณให้เห็นมาหลายปี บางองค์กรอาจยังไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานได้สำเร็จ แต่ในที่สุดเมื่อโควิด-19 มาถึง ก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
สำหรับพนักงานออฟฟิศหลายคน การล็อกดาวน์เป็นการส่งเสริมให้อยู่บ้านเพื่อความปลอดภัย โดยทำงานนอกออฟฟิศ หรือทำงานจากที่อื่น (Remote work) ขณะที่กลุ่มคนที่มีอาชีพบริการและลูกจ้างในโรงงาน นี่หมายถึงโอกาสที่บริษัทอาจจะพิจารณาแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแทนที่กำลังคนด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร โดยสามารถเป็นขุมพลังใหม่ ที่สร้างความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร ปูทางไปสู่อนาคตที่ความไม่แน่นอนคือความจริงแท้แน่นอน
แม้โควิด-19 จะนับเป็นวิกฤตโรคระบาดที่โลกไม่เจอมานานนับศตวรรษ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม World Economic Forum (WEF) ได้เสนออีกมุมมองว่า โควิด-19 ได้เปิดประตูแห่งโอกาสบานใหม่ที่จะ “สร้างคืนกลับมาให้ดีกว่าเดิม” ณ เวลานี้ คือโอกาสสำคัญที่จะวางพื้นฐานตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและสร้างโลกที่เท่าเทียมกันกว่าเดิม โดย WEF ได้เสนอแนวทางไว้ 5 ประการ ดังนี้
1. การเรียนรู้ทักษะใหม่และยกระดับทักษะ (Double down on upskilling and reskilling)
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาล บริษัทและลูกจ้างในหลายประเทศ ได้เริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทักษะใหม่และยกระดับทักษะเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 ในขณะเดียวกัน จากเดิมที่เราคาดการณ์ว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในตลาดแรงงาน แต่การระบาดของไวรัสโคโรน่ากลับกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การล้มครืนของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การแพร่กระจายของการระบาดได้เร่งรัดให้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและระบบอัตโนมัติในทุกภาคส่วนและถ้วนทั่วทุกอุตสาหกรรม โดยกลายเป็นปัจจัยที่เรียกร้อง ถามหาการลงทุนและกระบวนการใหม่สำหรับการยกระดับทักษะเดิม และเรียนรู้ทักษะใหม่ ทั้งในส่วนทักษะมนุษย์และทักษะทางดิจิทัลอย่างแท้จริง
ขณะที่อุตสาหกรรมการศึกษาและฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงลูกจ้างทั้งหลายผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงระหว่างการล็อกดาวน์ ซึ่งนายจ้างต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานและรัฐบาลต่าง ๆ ต้องพยายามอย่างแข็งขันในการสร้างข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการปรับทักษะและการยกระดับทักษะผ่านมาตรการทางการคลังขนานใหญ่ที่อัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ลูกจ้าง เมื่อผ่านพ้นช่วงการระบาดไปแล้วให้ดีที่สุด
2.การสนับสนุนอาชีพแห่งอนาคต (Identify the jobs of tomorrow)
WEF ได้เคยนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ “อาชีพแห่งอนาคต”[3] ตั้งแต่ตอนต้นปี พ.ศ. 2563 ว่า งานแห่งอนาคตจะเป็นงานที่ใส่ใจผู้คน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริหารจัดการเทคโนโลยีใหม่ และสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าเป็นกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ประชากรและวัฒนธรรม (People and Culture) ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data and AI) วิศวกรรม (Engineering) และ Cloud Computing การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) การขาย (Sales) การตลาด (Marketing) และคอนเทนต์ (Content)
การระบาดของโควิด-19 ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่จำเป็นอย่างยิ่งของบุคลากรในโรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ สถานศึกษา และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่จำเป็นอื่น ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพในระบบเศรษฐกิจใส่ใจ ทำให้เห็นถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มงานเหล่านี้ ในทำนองเดียวกันกับงานด้านบริหารจัดการและสร้างสรรค์เทคโนโลยี เช่น การค้าออนไลน์ (e-commerce) และเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ (Knowledge Economy) ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และขณะที่รัฐบาลต่าง ๆ พยายามหาทางกอบกู้เศรษฐกิจขึ้นมาใหม่นั้น แหล่งอุปสงค์ใหม่ของตลาดแรงงาน จะมาจากกลุ่มงานเศรษฐกิจสีเขียว การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งนี้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา มาตรการเชิงรุกในการสร้างบุคลากรและ อุปสงค์ต่ออาชีพแห่งอนาคต ยิ่งมีความสำคัญ จากการที่ห่วงโซ่มูลค่าของโลกในอดีตและโมเดลการเติบโตแบบเก่าที่ขับเคลื่อนโดยการผลิตต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
3. การจัดวางกำลังพลและการจัดหางานใหม่ (Prioritize re-deployment and re-employment)
มาตรการช่วยเหลือเชิงรุกสำหรับลูกจ้างทั้งที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียงานและว่างงาน จะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อภาคธุรกิจและรัฐบาลในหลายประเทศ ซึ่งบริษัทหลายแห่งได้ช่วยเหลือลูกจ้างที่โดนพักงานหรือให้ออกจากงานในระยะสั้น ด้วยการโยกย้ายให้ไปทำงานในตำแหน่งที่มีความขาดแคลน โดยในไทย พบว่าตลาดแรงงานในช่วงไตรมาส 2 ของปี พ.ศ.2563 มีจำนวนประกาศรับสมัครงานลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและงานพาร์ทไทม์[4]
ในประเทศที่รัฐบาลมีระบบบริหารจัดการที่มีความพร้อม และระบบสามารถดำเนินการได้อย่างแข็งขัน ลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองที่ดีกว่าประเทศที่รัฐบาลไม่มีระบบรองรับ แต่ถึงกระนั้น เมื่อรัฐบาลทั้งหลายจะพิจารณาออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งต่อไป จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางกำลังพลและการจัดหางานใหม่ในตลาดแรงงาน รวมถึงการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดแรงงาน การเป็นตัวกลางในตลาดแรงงานเพื่อให้บริการจับคู่แรงงานกับนายจ้าง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการหางาน ซึ่งแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายต่าง ๆ ที่กล่าวไปนี้ ประสบความสำเร็จในการใช้บริหารจัดการจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน มาตรการของรัฐดังกล่าวยิ่งมีความจำเป็นต่อการนำมาใช้อย่างทั่วถึง และต้องพร้อมที่จะใช้บริหารจัดการในช่วงเวลาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาด
4. การประเมินค่างานใหม่และพัฒนาคุณภาพงาน (Revalue essential work and improve the quality of jobs)
วิกฤตการณ์โควิด-19 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดได้สร้างบาดแผลให้แก่ห่วงโซ่คุณค่าทั่วโลก หลายธุรกิจได้ปรับแผนการทำงานและนำมาตรการการทำงานใหม่มาใช้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดตามนโยบายของรัฐบาล และบริหารค่าใช้จ่ายขององค์กรในสถานการณ์ที่รายได้ลดลงอย่างฉับพลัน
ประเทศไทยก็เช่นกัน รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และขอความร่วมมือให้นายจ้างอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ (Work From Home – WFH) ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจให้ได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ เพื่อยับยั้งการระบาด ด้วยเหตุนี้ การทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่น ๆ (สำหรับอนาคต) จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ อันนำมาสู่การทบทวนบทบาท มูลค่าและคุณภาพงานใหม่อีกครั้ง เมื่อความพร้อมและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานต้องสามารถวัดผลได้แม้ต้องทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่น ๆ
ธุรกิจส่วนใหญ่จะลดขนาดลง จากความต้องการของตลาดที่หดตัว ทำให้อาจมีนโยบายไม่รับบุคลากรเพิ่ม ไปจนถึงลดจำนวนพนักงานลงและเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในบางงาน การดำเนินธุรกิจในสถานการณ์แบบนี้ องค์กรจะประเมินความคุ้มค่า และมูลค่างาน รวมทั้งยกระดับความคาดหวังต่อคุณภาพงานสูงขึ้นต่ออัตรากำลังพลที่มีอยู่ ส่งผลให้พนักงานมีแนวโน้มที่จะปรับพฤติกรรมการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียงาน
การเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตที่ผ่านมา ช่วงหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1930 (Great Depression) และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราได้เริ่มเห็นแรงงานมีวันหยุดสุดสัปดาห์และได้รับสิทธิอื่น ๆ ของแรงงานอย่างเป็นทางการ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเกิดขึ้นของระบบสวัสดิการสุขภาพและรายได้ ตลอดจนการลงทุนด้านการศึกษาอย่างทั่วถึงในทวีปยุโรป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่กฎหมาย มาตรฐาน และค่าจ้าง กลับไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสม ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาล ภาคธุรกิจ และสหภาพแรงงาน จึงควรทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น
5. ความร่วมมือของทุกภาคส่วนคือสิ่งสำคัญ (A collaborative recovery, reset and rebuild)
ความร่วมมือระหว่างนายจ้าง ภาครัฐและลูกจ้างจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการฟื้นฟูสถานการณ์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การปกป้องตลาดแรงงานและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การดูแลนายจ้างทั้งรายเล็กและรายใหญ่ไม่ให้หมดแรงก่อนวิกฤตสิ้นสุด และการจัดระบบสวัสดิการรายได้สนับสนุนให้แก่ลูกจ้างและครัวเรือน เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยทันที
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม และความไม่เท่าเทียมนานัปการในระบบที่ผ่านมาอย่างชัดเจน แต่นั่น ก็กระตุ้นให้ผู้นำระดับโลกได้ปรับความคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่โดยให้คุณค่าต่อชีวิต ศักยภาพ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตรงนี้เองคือหน้าต่างแห่งโอกาสบานใหม่ของการลงทุนในสินทรัพย์ที่ล้ำค่าที่สุด นั่นคือ – ทุนมนุษย์
ที่มา : World Economic Forum (WEF)
[1] ภาคธุรกิจประเภทหนึ่งที่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการเพื่อดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ได้แก่ การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การดูแลด้านสุขภาพ การศึกษา รวมทั้ง การพักผ่อนในเวลาว่างและงานบริการส่วนบุคคล เป็นต้น
[2] เทรนด์การทำงานในยุคใหม่ที่ลูกจ้างรับทำงานเป็นครั้งไม่เป็นลูกจ้างประจำของที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว
[3]WEF,2020,Jobs of Tomorrow, available at https://www.weforum.org/reports/jobs-of-tomorrow-mapping-opportunity-in-the-new-economy
[4] https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/thailand-after-covid-ep1.html
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอนาคต จำนวนประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2500 อาจจะมีจำนวนประชากรบนโลกนี้ถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 20 ปี สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลง ถือได้ว่าเป็นความท้าทายต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นดั่งนาฬิกาปลุกให้ทั้งตัวผู้บริโภค บริษัท รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกนี้ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
ภาพรวมระดับโลกด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน