ระดมสมองผู้นำความคิด
เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันฝ่าวิกฤติ
ใน Thailand Competitiveness Conference 2020
รวมการแลกเปลี่ยนทรรศนะ ยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ บริการ การท่องเที่ยว ดิจิทัล จากผู้นำทางความคิดทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิชาการทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ
ในงาน “Thailand Competitiveness Conference 2020” ที่จัดโดย TMA ร่วมกับ TCEB เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เชิญกลุ่มผู้นำทางความคิด ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศภาย ในช่วงเวลาวิกฤติจาก COVID-19 ซึ่งแนวคิดและวิธีการที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศก่อนเกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปในสภาพแวดล้อมของโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิงหลังจากนี้ แนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนภายใต้วิถี New Normal
ในมุมมองของศาสตราจารย์ สเตฟาน แกเรลลี (Prof.Stephane Geralli) ผู้ก่อตั้งสถาบัน IMD World Competitiveness Center เห็นว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งนับเป็น 10% ของ GDP ทั้งโลก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยในภาคธุรกิจมี ความน่าเป็นห่วงคือการเกิดหลุมดำทางเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่อาจอยู่รอดได้ เพราะถูกบริษัทที่ใหญ่กว่ากว้านซื้อ และทำให้เกิดภาวการณ์การลงทุนมากเกินความจำเป็น (Overcapitalization) โดยบริษัทยักษ์ใหญ่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
จากภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดเทรนด์โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เช่น Grab, Uber, Tesla ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่กลับไม่ทำกำไร จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าอาจจะนำไปสู่การพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังมีกระแสการนำแหล่งผลิตกลับสู่ประเทศต้นกำเนิด แทนการ Outsource ไปยังประเทศที่ค่าแรงถูก เพื่อสร้างอาชีพให้คนในประเทศ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยในภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังเกิดวิกฤติ COVID สิ่งที่ผู้คนจะต้องการมากที่สุดจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ ความปลอดภัย ความโปร่งใส จริยธรรม และความยั่งยืน
ศาสตราจารย์ อาทูโร่ บริส (Prof.Arturo Bris) ผู้อำนวยการสถาบัน IMD World Competitiveness Center มองว่า เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 เกือบทุกประเทศไม่มีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง
ในส่วนของประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศขนาดกลาง สิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและอยู่รอดได้คือ การปรับโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืนและใช้ความยั่งยืนนี้เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงเป็นแนวโน้มความต้องการของคนยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างความแตกต่าง รวมถึงดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาตซึ่งถือเป็นความท้าทายและโอกาสดีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือของทางภาครัฐที่จะช่วยกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้เอง
BCG แนะ 6 ทางออกก้าวผ่านวิกฤต COVID-19
ด้าน นายอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วน บริษัท เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BCG) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก มีคำแนะนำ 6 ประการสำหรับองค์กรธุรกิจที่ควรมองไปข้างหน้าเพื่อก้าวออกจากวิกฤติครั้งนี้ ได้แก่
1.ภาพรวมองค์กรโดยเฉพาะในเรื่องบุคคล ดังจะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ ธุรกิจอาจมียอดขายกลับมาไม่เหมือนเดิม แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องบุคลากรยังคงถือเป็นต้นทุนคงที่ จึงจำเป็นต้องมีการนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น บางองค์กรที่ปรกติมีลูกค้า 1,000คน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 อาจเหลือลูกค้า 100 ราย จึงจำเป็นต้องกำหนดแผนงานด้านบุคลากรเพื่อรองรับกับจำนวนลูกค้าที่ลดน้อยลง
2.ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า เพื่อรักษาปริมาณยอดขายและคำสั่งซื้อในอนาคต
3.บริหารการผลิตและซัปพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีเสถียรภาพเพื่อสามารถดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การจัดการค่าใช้จ่าย โดยคำนึงหลักการว่าหากในวันหนึ่งต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่จะมีอะไรที่จำเป็นต้องใช้จ่ายบ้าง หรืออาจต้องใช้จ่ายแตกต่างจากเดิมอย่างไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหมือนเดิม
5.การพัฒนาระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ หรือ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในสถานการณ์ที่ทำลำบากที่สุดเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตได้
6.การให้ความสำคัญในเรื่อง “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ซึ่งจะต้องทำให้ทุก ๆ ฝ่ายทั้งพนักงานและลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำงานที่รวดเร็ว ตลอดจนเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
“ดุสิตธานี” ชี้แนวทางปรับโมเดลธุรกิจ
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 ในวงการธุรกิจต้องพบกับภาวการณ์หยุดชะงัก หรือ Disruption มาแล้วมากมาย ทั้ง Digital Disruption และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเราต้องพิจารณาว่าโมเดลธุรกิจที่เราจะเดินหน้าต่อไปควรจะเป็นอย่างไร โดยขอยกตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ ด้าน เช่น ผู้ปฏิบัติการ หรือเจ้าของทรัพย์สินจะสร้างความสมดุลอย่างไรระหว่างทรัพย์สินขององค์กร หรือทรัพย์สินที่ต้องเช่า รวมถึงทรัพย์สินที่ต้องบริหารงาน โดยอาจมีทรัพย์สินบางอย่างที่เราอาจต้องลงทุนเพิ่มด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงพันธมิตรธุรกิจเพราะในสถานการณ์ COVID-19 การดำเนินธุรกิจเพียงลำพังบนโลกธุรกิจคงไม่เพียงพอในการตอบโจทย์การให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ดังนั้นเราจึงอาจเห็นภาพธุรกิจโรงแรมร่วมมือกับสายการบิน โรงพยาบาล หรือประกันภัย เป็นต้น
ถัดมาคือเรื่องสุขอนามัยซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานใหม่ที่ผู้คนจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาให้บริการที่ตรงความต้องการลูกค้าและสามารถนำมาใช้ในการทำงานในทุกสถานที่ ตลอดจนเรื่องของความยั่งยืน โมเดลธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 เรื่องคือ 1.การช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดและให้ความยืดหยุ่นในการให้บริการ 2.การให้บริการที่ประทับใจ และ 3.การให้ความคุ้มค่าแก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ
“ในวิกฤตมีข้อดีคือทำให้เราต้อง Rethink ทั้งในเรื่องการการปรับโครงสร้างการเงิน การปรับโมเลธุรกิจ และการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งยังทำให้คนในองค์กรและทุกภาคส่วนตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงในสภาพปรกติหลายคนอาจไม่ยอมรับและต่อต้าน แต่จากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”
“TCEB” จัดแคมเปญช่วยผู้ประกอบการไมซ์
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “TCEB” กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา “TCEB” เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์มาตรการและแนวทางการเตรียมความพร้อมเปิดกิจการ หรือการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและกีฬาในสถานการณ์ COVID-19 ของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนด้านสุขอนามัยของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สำหรับผู้ประกอบกิจการและสถานที่สาธารณะกรณีผ่อนผันการดำเนินกิจการ และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานลงมือปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนเปิดกิจการและกิจกรรมไมซ์โดยทำงานร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และภาคเอกชน เพื่อนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาลจนมีแนวทางชัดเจน และมีความพร้อมเตรียมการเปิดกิจกรรมของอุตสาหกรรมไมซ์
สำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ในสถานการณ์ COVID-19 “TCEB” ได้จัดแพ็คเกจ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” โดยตั้งเป้าหมายไว้ 500 กรุ๊ป สำหรับองค์กรที่จัดประชุม (Meetings) 30 คน ขึ้นไป โดยจะให้งบประมาณสนับสนุน 3 หมื่นบาท สำหรับการเดินทางข้ามจังหวัด มีการพักในโรงแรม หรือสถานประกอบการ พร้อมจัดฟังก์ชันการจัดประชุมและช่วยเหลือชุมชน โดยยังจัดงบประมาณสนับสนุน 1.5 หมื่นบาทสำหรับโรงแรมที่ขอรับการสนับสนุนการจัดประชุมต่อ 1 วัน ขณะเดียวกันยังมีแพ็คเกจ “ประชุมเมืองไทย ร่วมใจขับเคลื่อนชาติ” สำหรับการประชุมนานาชาติ (Conventions) ในประเทศโดยได้จัดงบประมาณ 5 หมื่น – 1.2 แสนบาท สำหรับกลุ่มคณะ 100 คนขึ้นไปที่มีการพัก 2 วัน 1 คืน ตลอดจนแพ็คเกจ “งานแสดงสินค้าในประเทศ นำเศรษฐกิจไทยไปไกลกว่า” สำหรับงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) ในลักษณะ B2B บนพื้นที่ 3 พันตารางเมตรขึ้นไป มีงบประมาณให้ 1 ล้านบาท และ 8 แสนบาทสำหรับการจัดงานบนพื้นที่ต่ำกว่า 3 พันตารางเมตร โดยบริษัท ห้างร้าน และองค์กรต่าง ๆ สามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มได้ที่ https://www.thaimiceconnect.com/
บทสรุปความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับ “ผู้นำองค์กร”
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัด นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษั ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ
ทั้งนี้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตเพียงด้านเดียวที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องประสบ เพราะยังมีเรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน รวมถึงเทคโนโลยีดิสรัปชัน และอื่น ๆ ที่ล้วนเป็นสิ่งท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันซึ่งหากธุรกิจใดที่ยังภาคภูมิใจกับความสำเร็จเก่า ๆ โดยไม่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง หรือตีโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้แตก ธุรกิจนั้นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ประการสำคัญความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยังจำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญด้วยซึ่งถ้าหากธุรกิจใดขาดการเตรียมพร้อมที่ดี โอกาสที่คิดว่าจะเป็นของเราอาจผันแปรเป็นโอกาสของผู้อื่นได้ในทันที
ปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจในการยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอย่างมากที่จะไม่ทำตัวเป็นคนรุ่นเก่าในยุคอดีต โดยต้องพัฒนาให้ตัวเองมีความทันสมัยในรูปแบบที่คนรุ่นใหม่ยอมรับ ตลอดจนมีทักษะในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องยอมรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้นำเป็น Coach ในทุก ๆ ด้าน
สถานการณ์ COVID-19 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวม ดังนั้นธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรและวิธีคิดของคนทำงาน ตลอดจนการกำหนดกลยุทธ์และแผนการตลาด จากเดิมที่เคยกำหนดแผนระยะยาว 5 ปีอาจใช้ไม่ได้ผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ควรเป็นแผนระยะสั้นรายไตรมาส ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีแผนพัฒนาสินค้าและบริการจำเป็นต้องทดสอบตลาดให้เร็วที่สุด แทนที่จะใช้เวลา 3 เดือนในการสำรวจตลาดก่อนที่จะพัฒนาสินค้า หรือบริการ ประการสำคัญขอให้คำนึงว่าทุกวิกฤตมีโอกาส แต่หลังจากวิกฤตจะทำอย่างไรให้มีโอกาสและสร้างโอกาสนั้นให้มีความเข้มแข็งโดยใช้Digital Transformation เป็นอาวุธ พร้อมกับใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการตลาด
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอนาคต จำนวนประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2500 อาจจะมีจำนวนประชากรบนโลกนี้ถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 20 ปี สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลง ถือได้ว่าเป็นความท้าทายต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นดั่งนาฬิกาปลุกให้ทั้งตัวผู้บริโภค บริษัท รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกนี้ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
ภาพรวมระดับโลกด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน