ผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ
แนะแนวทางสร้างเมืองที่ยั่งยืน
COVID-19 คือปัญหาระยะสั้น แต่ “ภาวะโลกร้อน” เป็นปัญหาระยะยาว
“Sustainability Forum 2000 : Creating a Resilient City” ที่จัดโดย TMA ความรู้และความเห็นในแง่มุมต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและระดับโลก
ในมุมมองของนายฮาราลด์ นายด์ฮาร์ด (Mr.Harald Neidhardt) CEO & Curator Futur/io Institute, Germany กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นับเป็นบททดสอบครั้งสำคัญสำหรับโลกธุรกิจและการสร้างความยั่งยืน แต่ยังถือว่า COVID-19 เป็นวิกฤติระยะสั้น เมื่อเทียบกับปัญหาโลกร้อนที่เป็นวิกฤติระยะยาว ซึ่งมีผลกระทบกับทุกคนทั่วโลก ดังนั้นปัญหานี้จึงต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกส่วน นายนายด์ฮาร์ด เน้นย้ำว่า “หากวันนี้คนยังเพิกเฉยกับปัญหาโลกร้อนต่อไป อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ เช่น ตอนใต้ของกรุงปารีสและตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮาร่า หรือเมืองชายฝั่งซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่นก็จะไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป”
จากงานวิจัยของ IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่าโอกาสทางรอดจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศ คือการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และลดลงทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2050
ส่วนนายโจนัส ธอร์นบลัม (Mr.Jonas Törnblom) CEO Envito AB, Sweden เห็นว่า “การสร้าง Smart and Sustainable Cities จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย เพื่อร่วมกันกำหนดขอบเขตและแนวทางของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่รวมการสร้างความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการนั้นด้วย”
“เดนมาร์ก” กรณีศึกษาการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืน
มุมมองของนายฟิน มอร์เทนเซ่น (Mr. Finn Mortensen) Executive Director State of Green, Denmark เห็นว่า “ประเทศเดนมาร์กได้เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยได้มีการวางแผนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากร ตลอดจนแผนการสร้างเมือง Smart City ซึ่งทำให้เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ในอนาคตอันใกล้ ประมาณ 65% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแออัด การจัดการทรัพยากร มลพิษจากการคมนาคม ตลอดจนปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจนมากขึ้น
การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ที่มีความยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ ความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรง ตัวอย่างเช่น เมืองโคเปนเฮเกนและเมืองท่องเที่ยวรอสกิลด์ ที่มีนวัตกรรมในการจัดการและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมและพายุฝน เช่น การสร้างถนนที่สามารถช่วยดูดซับน้ำ การสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น”
อนาคตของการลงทุนกับองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นว่า“ความยั่งยืนเป็น เมกะเทรนด์ที่ทุกคนจับตามอง นักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินให้ความสนใจกับบริษัทที่ยึดหลักความยั่งยืนและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปจะมองเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน จากสถิติต่าง ๆ ของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีสัดส่วนของคนรู้หนังสือมากขึ้น คนยากจนน้อยลง สังคมมีความเจริญมากขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลง โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของความเจริญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง รวมทั้งปัญหาทรัพยากรน้ำ จึงทำให้บริษัทที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) มากกว่าผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นครั้งแรก”
ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องทำ
ในการอภิปรายในหัวข้อ CEO Roundtable : Business Adapting towards Resilience โดย นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) นายแบรด เดนิก (Mr. Brad Denig) Co-ordinating Managing Director – Innovation & Sustainability, AWR Lloyd Limited นายยูซา ซูเซีย (Mr. Jusa Susia) Head of Region, Business Finland และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สรุปได้ว่า ในปัจจุบันเราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่รอได้อีกต่อไป ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ปัญหา การวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) ความสามารถในการปรับตัว (Resilience) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอนาคต จำนวนประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2500 อาจจะมีจำนวนประชากรบนโลกนี้ถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 20 ปี สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลง ถือได้ว่าเป็นความท้าทายต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นดั่งนาฬิกาปลุกให้ทั้งตัวผู้บริโภค บริษัท รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกนี้ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
ภาพรวมระดับโลกด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน