อนาคตของพลวัตวิถีเศรษฐกิจด้านสุขภาพ
(Centering Health: pathways in the global health economy 2026)
กล่าวได้ว่าสุขภาพนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบร่างสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพได้รับการพัฒนาผ่านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค แม้ว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อการมีสุขภาพที่ยั่งยืนจะเพิ่มขึ้น แต่เราสามารถคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลกที่แข็งแกร่งสิบปีนับจากนี้ได้ โดยเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจด้านสุขภาพระดับโลกในปี พ.ศ. 2569 ไม่เพียงเป็นการผลิตสินค้าและบริการด้านสุขภาพสำหรับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ในระบบเศรษฐกิจนี้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาสุขภาพสำหรับคนจำนวนมากเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ยังถือเป็นการลงทุนอีกด้วย
Health Futures Lab จาก Institute for the Future (IFTF) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยถึงวิธีการออกแบบวิถีชีวิตด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองและใช้ประโยชน์จากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพในทศวรรษหน้า ผ่าน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ความคาดหวังต่อชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป (Diverging Life Expectations)
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรหรือการขยายตัวของเมือง กำลังเปลี่ยนความคาดหวังในชีวิตของผู้คน โดยสิ่งที่ผู้คนต้องการจากเศรษฐกิจด้านสุขภาพระดับโลกคือการรับรู้และการตอบสนองต่อความคาดหวังที่แตกต่างของพวกเขาเหล่านี้
การเพิ่มขีดความสามารถด้านระบบสุขภาพ (Expanding Health Authorities)
การสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์กับอุตสาหกรรมด้านข้อมูล หรือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดโอกาสในการปรับตัว สร้างพันธมิตร และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ระบบ Machine Learning (Embedding Machine Intelligence)
เทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการพัฒนาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเชื่อมโยงประมวลผลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราคิดค้นได้ดีขึ้น และจากการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ ได้สร้างโอกาสให้นักวิจัย นวัตกร รวมถึงนักประดิษฐ์ในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในการประยุกต์ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อสุขภาพ
การออกแบบที่ครอบคลุม (Designing For Inclusion)
ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและความมั่งคั่งระหว่างผู้มีรายได้น้อยกับผู้มีรายได้สูงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงตามมา ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยในราคาที่สมเหตุสมผล จึงถูกคาดหวังให้เกิดขึ้น
จากปัจจัยขับเคลื่อนทั้งสี่นั้น ผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับปัจจัยกำหนดด้านสุขภาพ อันได้แก่ พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล การแพทย์ ชีววิทยาและพันธุศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัจจัยทางสังคม ซึ่งแต่ละปัจจัยต่างมีการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างเส้นทางสู่อนาคตเศรษฐกิจสุขภาพโลกที่เท่าเทียมและยั่งยืนในทศวรรษหน้า
มากกว่ามาตรฐานคือการบูรณาการสุขภาพเข้ากับชีวิตประจำวัน
(Beyond Compliance: Integrating Health into Everyday Life)
พฤติกรรมของปัจเจกบุคคลรวมถึงตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพส่วนใหญ่เกิดขึ้นท่ามกลางความซับซ้อนและลำดับความสำคัญในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เครื่องมือและเทคโนโลยีในศตวรรษนี้จะถูกใช้อย่างแพร่หลาย จากมุมมองผู้ประกอบการด้านดูแลสุขภาพกล่าวว่า หนทางสู่สุขภาพที่ดีขึ้นเกิดจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยพลังของเทคโนโลยีมือถืออัจฉริยะเชื่อมโยงผู้คนในการสนับสนุนทรัพยากรที่พวกเขาต้องการในการสร้างทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน
การขอความช่วยเหลือเสมือน (Enlisting virtual assistance)
การโต้ตอบบนหน้าจอกับอุปกรณ์ดิจิทัลจะถูกแทนที่ด้วยการสนทนากับผู้ช่วยเสมือน ซึ่งผู้ช่วยดิจิทัลที่เปิดใช้งานด้วยเสียงกำลังถูกพัฒนาโดยบริษัท เช่น Google Apple หรือ Amazon ที่นอกจากการช่วยเหลือบุคคลที่มีความพิการทางร่างกายในการดูแลสุขภาพที่บ้านแล้ว ยังผสานการสนทนาเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ผ่านการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ในบทสนทนามากขึ้น ทำให้ผู้คนรู้สึกเสมือนว่าสนทนากับบุคลากรทางการแพทย์ อันเนื่องมาจากการโต้ตอบของเทคโนโลยีเชิงลึก
การมีส่วนร่วมในระบบสนับสนุนการดูแลสุขภาพ (Engaging health-sustaining support systems)
ความชาญฉลาดที่เพิ่มขึ้นของเครื่องจักรอันเกิดจากการเชื่อมต่ออัลกอริธึมบนคลาวด์ที่ซับซ้อนในอีกสิบปีข้างหน้า ให้สามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์ใดๆ ที่มีการเชื่อมต่อเครือข่าย ทำให้เห็นถึงการโต้ตอบในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กล้อง The Graava ที่จะจับภาพและบริหารเวลาทำกิจกรรม ต่างๆ ของผู้ใช้โดยอัตโนมัติรวมถึงตัวเลือกอาหารประจำวันไปจนถึงการสนทนากับระบบ โดยที่ผู้ใช้งานและทีมดูแลของพวกเขาสามารถมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการใช้เทคโนโลยีในการขจัดอุปสรรคที่มีผลต่อสุขภาพ
มากกว่าการรักษาคือการปรับปรุงมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทันสมัย
(Beyond Sick Care: Modernizing the Medical Standard of Care)
ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ระบบที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะทำงานร่วมกันกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตวิทยา ในขณะที่ระบบการให้บริการทางสาธารณสุขทั้งส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประกันชีวิตในตลาดที่มีการเติบโตก็จะยิ่งมีอัตราการพัฒนามาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ส่งผลให้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านสุขภาพดิจิทัลจะถูกรวมเข้ากับการออกแบบการดูแลสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลจากความชาญฉลาดในการวิเคราะห์ข้อมูลในฐานะผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลก
การสร้างแบบจำลองสุขภาพ (Building survivorship health models)
การค้นพบและวิธีการรักษาใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ส่งผลให้มีชีวิตอยู่ได้นานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสำหรับผู้ป่วยเกือบ 22 ล้านคนที่จะได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งในปี พ.ศ. 2573 ทำให้การเข้าถึงการดูแลไม่ใช่อุปสรรคที่น่าหนักใจ และการวินิจฉัยโรคมะเร็งสำหรับหลายๆ คนนั้นไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยผู้นำเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลกจะจัดการกับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะมีสุขภาพที่ดีหลังการรักษา
การออกแบบนโยบายเภสัชวิทยาสาธารณสุข (Designing public health pharmacogenetic policies)
ในปี พ.ศ. 2563 คาดการณ์ว่ายาจะถูกใช้ราว 4.5 ล้านล้านโดส แต่ในอนาคตหลังจากนี้จะเริ่มมีการศึกษายีนว่ามีการตอบสนองกับยาอย่างไร ทำให้สามารถกำหนดยาที่เหมาะสมตามลักษณะทางพันธุกรรม ช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดแผนการรักษาและเกิดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด ในทางกลับกัน ยังคงมีการผลิตยาในรูปแบบเดิมเพื่อใช้ในผู้ป่วยที่การวิเคราะห์จีโนไทป์มีค่าใช้จ่ายสูง โดยผู้นำด้านเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลกจะต้องให้การสนับสนุนนวัตกรรมที่ผสมผสานเทคโนโลยีด้านเภสัชจลนศาสตร์เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ด้านสุขภาพเป็นธรรมสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ใดและมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร
มากกว่าการรู้จักตนเองคือการเข้าถึงชีววิทยาที่สามารถโปรแกรมได้
(Beyond Self-knowledge: Accessing Open, Programmable Biology)
เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลงทำให้แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวภาพอยู่ในมือของผู้ใช้โดยตรง ซึ่งการบรรจบกันของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสารสนเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอำนาจทางวิทยาศาสตร์และนำไปสู่ยุคใหม่ของพันธุศาสตร์และชีววิทยาด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยาจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดเครื่องมือต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานเชิงรุกในการติดตามสุขภาพและการดูแลให้เหมาะสมสำหรับทุกคน เชื่อมโยงผู้คนด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีววิทยาและพฤติกรรมที่พวกเขาสามารถตัดสินใจในเรื่องสุขภาพหรือการรักษาได้ด้วยตนเอง
การทำให้ Biohack[i] เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ (Mainstreaming the proactive biohack)
ในอนาคตเราจะเห็นผู้คนทำการทดลองกับร่างกายหรืออวัยวะของตนเองด้วยตนเอง แม้ว่าจะมีข้อพิพาทด้านสิทธิและข้อโต้แย้งเชิงวิชาการ ดังเช่น CRISPR ชุดสำหรับการแก้ไขยีนในแบคทีเรียด้วยตัวเองและเว็บไซต์วิกิจีโนมที่มีอยู่มากมายก็ตาม ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีอยู่มากจะถูกรวมเข้ากับระบบเปิดที่เข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรืออุปกรณ์เพื่อสุขภาพแล้ว ยังรวมไปถึงการรักษาด้วยยีนและชิปหรืออุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในร่างกายเพื่อสร้างสุขภาวะที่เหมาะกับปัจเจกบุคคล โดยการสร้างระบบเปิดที่สามารถเข้าถึงได้จะทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาระบบบนพื้นฐานของข้อมูลทางชีวภาพขนาดใหญ่ (Developing systemic interventions based on massive biological data)
ขณะที่ข้อมูลทางชีวภาพแพร่กระจายและไหลผ่านระบบอัตโนมัติและระบบฝังตัวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลให้เราเข้าใจความซับซ้อนเกี่ยวกับอิทธิพลมากมายที่ส่งผลต่อสุขภาพและโรคยิ่งขึ้น ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนจะสามารถมีส่วนร่วมในข้อมูลทางชีวภาพเพื่อโครงการวิจัยที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งจะวิเคราะห์ไม่เพียงรายบุคคล แต่ยังรวมไปถึงรูปแบบการเกิดโรค ช่วยเพิ่มความเสมอภาคด้านสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการรวมกันของสาขาวิชาที่แยกออกจากกันในศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขการแพทย์ การวางผังเมือง การจัดการการใช้ที่ดิน และสถาปัตยกรรม ที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาวิธีการแบบองค์รวมที่หลากหลาย
มากกว่าการบริหารความเสี่ยงคือการส่งเสริมความยืดหยุ่นและการฟื้นฟูโลก
(Beyond Risk Maps: Fostering Planetary Resilience and Regeneration)
ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ความยืดหยุ่น และการฟื้นฟู จะมีความสำคัญและได้รับการส่งเสริมให้กับบุคคล ชุมชน และเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตอนนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้น การปกป้องความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพมนุษย์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความยืดหยุ่นและการฟื้นฟูเป็นเส้นทางที่สำคัญต่อสุขภาพสำหรับทุกคน
การสร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นในศตวรรษที่ 21 (Building 21st century resilient cities)
หลายเมืองต่างจริงจังกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยไปจนถึงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความท้าทาย โดยที่ยังมีโอกาสสร้างความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพชุมชนก็สามารถเข้าร่วมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากในอนาคตข้างหน้า นักกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้ทุกองค์กรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพ
การสร้างแบบจำลองสิ่งแวดล้อม (Modeling regenerative environmental handprints)
ความรับผิดชอบและการฟื้นฟูกำลังเป็นสิ่งจำเป็นทางเศรษฐกิจสำหรับองค์กรทุกประเภท เพราะภัยคุกคามที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนที่มีรายได้น้อยหรือชนกลุ่มน้อย การปกป้องประชาชนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ทำให้องค์กรต่างๆ ไม่เพียงแค่วางแผนเพื่อความยั่งยืนและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางแผนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น โดยนักวิจัยและองค์กรพัฒนาเอกชนได้จัดทำเอกสารที่ให้สิทธิและความรับผิดชอบในการดูแลระบบนิเวศที่พวกเขาอาศัยอยู่ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่ฉลาดจะไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าและบริการ แต่ยังช่วยสร้างเสริมระบบความเป็นอยู่ที่ดีในเวลาเดียวกัน ส่งผลในทางบวกต่อสุขภาพของมนุษย์ ธรรมชาติ และความเสมอภาค เช่น GreenWave kelp farm ที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่รวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
มากกว่าความไม่เท่าเทียมคือการพัฒนาฐานการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
(Beyond Inequality: Developing an Evidence Base for Structural Change)
ปัจจัยทางสังคม อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความรุนแรงนั้น เป็นสิ่งที่ยากที่จะวัดถึงการมีสุขภาวะที่ดีเนื่องจากขาดหลักฐานและความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และหน่วยงานเกี่ยวข้องจะช่วยจัดทำแผนภูมิเส้นทางใหม่สู่สุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรวมชุดข้อมูลที่แตกต่างกันเพื่อสร้างหลักฐานสำหรับการพัฒนาสังคมที่มีส่วนในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังช่วยให้นักกิจกรรม บริษัท และผู้นำชุมชน มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ
การเจรจาสัญญาประชาคมขั้นพื้นฐานใหม่ (Renegotiating basic social contracts)
สุขภาพ การทำงาน และเศรษฐศาสตร์มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด โดยพื้นฐานคนเราทำงานแลกเงินเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์ ประเทศที่นายจ้างจัดหาสวัสดิการในส่วนของประกันสุขภาพให้แก่พนักงานก็เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เมื่อระบบนิเวศของการทำงานเปลี่ยนไปเพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น หากระบบเศรษฐกิจเกิดความผันผวนขึ้น เราจะได้เห็นการเจรจาสัญญาประชาคมขั้นพื้นฐานใหม่ เมื่อมองรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นตัวตั้งก็จะสามารถเห็นแนวทางที่หลากหลายจากทั่วโลก บางบริการเสริมด้านสาธารณสุขและบริการภาครัฐอื่นๆ จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อบรรเทาความยากจนในฐานะที่เป็นสาเหตุของความไม่เสมอภาคในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เช่น องค์กร GiveDirectly ในประเทศเคนยา ทำการทดลองโดยการจ่ายเงินเดือนพื้นฐานแก่ประชากรจำนวน 6,000 คน เป็นเวลา 10 ปี
การยกระดับความปลอดภัยของประชาชนเพื่อการสาธารณสุข (Leveraging public safety for public health)
ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความปลอดภัยสาธารณะและสุขภาพของประชาชนเริ่มเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ถือได้ว่าเป็นอันตรายต่อคนทำให้ไม่ได้รับการตอบสนองตามความต้องการพื้นฐาน การรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลจึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยสาธารณะ นำมาสู่โครงการความปลอดภัยสาธารณะต่างๆ เช่น รัฐบาลติดกล้องและเซ็นเซอร์บนถนนในเมืองเพื่อจับคนร้ายและใช้อัลกอริธึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำนายอาชญากรรม ทั้งนี้ การรวบรวมข้อมูลต้องมีความเป็นกลางและสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข
เห็นได้ชัดว่า การสาธารณสุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากและเชื่อมโยงกับหลายๆ ภาคส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการมีสุขภาวะที่ดีลดน้อยลง ประเทศไทยเองก็ได้ชื่อว่ามีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ หากได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชนในการพัฒนาระบบ ไม่ใช่แค่คนไทยที่จะมีโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขมากขึ้นเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น แต่ยังทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมืออีกด้วยในแง่ของเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและนอกประเทศ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากการพัฒนาจุดแข็งที่มีให้เป็นสินค้าและบริการที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ที่มา: Institute for The Future (IFTF)
[i] การเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรวมถึงการสร้างสุขภาวะให้ดีขึ้น
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอนาคต จำนวนประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2500 อาจจะมีจำนวนประชากรบนโลกนี้ถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 20 ปี สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลง ถือได้ว่าเป็นความท้าทายต่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เป็นดั่งนาฬิกาปลุกให้ทั้งตัวผู้บริโภค บริษัท รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกนี้ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
ภาพรวมระดับโลกด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน