ศาสตราจารย์ ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยกล่าวไว้ว่า ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้หมายถึงการที่ประเทศมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่น หรือสามารถขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าเพราะมีการกดค่าแรง หรือลดค่าเงิน แต่มาจากความสามารถในการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ที่จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งของประเทศ และประชาชนในชาติ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือคนที่แข่งได้จริงนั้น “ ยิ่งแข่งยิ่งรวย ไม่ใช่ยิ่งแข่งยิ่งจน” เพราะเขาสามารถแสวงหาปัจจัยความได้เปรียบที่ทำให้เอาชนะในเกมส์การแข่งขันได้โดยที่ไม่ต้องเฉือนผลกำไร หรือกดค่าแรงพนักงาน ทั้งนี้เงื่อนไขนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของโลกในแต่ละยุค อาทิ ในอดีตประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากอาจจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง แต่ในยุคปัจจุบันทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นปัจจัยชี้ขาดของการชนะการแข่งขัน
นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันรุนแรง (disruption) นั้นคือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว หรือ agility
Agility= Innovation (นวัตกรรม)+ speed (ความเร็ว)
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซีเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า นวัตกรรมเพียงลำพังไม่ใช้สูตรของความสำเร็จของโลกในยุคนี้อีกต่อไป เพราะขณะที่ในวันนี้คุณอาจคิดค้นอะไรเป็น “first to the world” ได้ ในวันรุ่งขึ้นอาจจะมีคนอีกสามพันคนที่สามารถทำได้เหมือน หรือดียิ่งกว่าคุณ ดังนั้น “speed” หรือความเร็วในการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่จำเป็น !!!
คุณรุ่งโรจน์ให้จำกัดความ agility ว่าคือ นวัตกรรม + ความเร็ว
ด้านคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในยุคนี้ไม่ใช่ยุคของ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ต่างหาก
โลกในยุคนี้ประเทศหรือองค์กรที่มีขนาดใหญ่โตและมีโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวเปลี่ยนแปลง จะสามารถพ่ายแพ้หรือ “ตกยุค” ได้อย่างรวดเร็ว อีกนัยหนึ่งจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นเทรนด์ในยุคนี้ที่องค์กรใหญ่ๆจะหันมาช๊อปสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว และไม่ยึดติดอยู่กับกรอบของโครงสร้าง ความเชื่อ หรือความสำเร็จเดิมๆ เพื่อมาช่วยอุดช่องว่างทางด้านนวัตกรรมและความเร็วในการพัฒนาสินค้าเข้าสู่ตลาด
มองในประเด็นของความเร็วนี้ ภาคราชการดูจะน่าเป็นห่วงที่สุด โจทย์ที่ยิ่งใหญ่และหินที่สุดของทุกประเทศในปัจจุบันคือการปฏิรูปกลไก โครงสร้าง และ mindset บุคลากร ภาครัฐให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถเกื้อหนุนองคาพยพของประเทศ ให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวดเร็ว ก้าวข้ามระเบียบปฏิบัติที่ล้าสมัย ผลประโยชน์ หรืออุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยดี
โจทย์สำคัญในขณะนี้ขององค์กรทั่วโลกคือทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถปรับตัว และเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรมได้เหมือนกับองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการ วัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึง mindset ของผู้บริหารและพนักงาน
องค์กร (หรือแม้กระทั่งระบบราชการ) จำเป็นต้องหาระบบปฏิบัติการ operating system ใหม่ที่จะช่วยทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการขับเคลื่อนภายใต้ความเร่ง ความแปรปรวน และความฉับพลัน (disruption) ในโลกยุค 4.0
การบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลและระบบไอทีที่ก้าวหน้าเพื่อการตัดสินใจและขับเคลื่อนธุรกิจเป็นหนึ่งในบรรดาโจทย์สำคัญขององค์กรและประเทศที่ต้องการจะชนะในโลกของการแข่งขันในยุคใหม่
คุณรุ่งโรจน์ เอสซีจีบอกด้วยว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในยุคนี้ต้องทำบ่อยๆ เพื่อให้คนคุ้นชินจนรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ
ในส่วนของภาครัฐ นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะประสานพลังทุกฝ่ายเพื่อช่วยกันยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงานในภาครัฐให้มีความคล่องตัว และสามารถสนองตอบต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนมากยิ่งขึ้น (ease of doing business)
ซึ่งในงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย Thailand Competitiveness Conference 2017 จะมีขึ้นที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ในระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม ศกนี้ ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนจะมาร่วมกันระดมพลังสมองเพื่อช่วยกันยกระดับขีดความสามารถของประเทศ โดยมีองค์ปาฐก อาทิ ดร. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งจะมาบรรยายในหัวข้อ การปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐ และ Ease of Doing Business
********************
ขอบคุณภาพ : https://goo.gl/RRWQiu
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ในระยะแรกเป็นเพียงประเด็นด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างและลุกลาม จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือวิกฤตครั้งนี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับโลก (Global Perspective) ระดับองค์กร (Business Perspective) และการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม (Individual Perspective) ตามวิถีใหม่ (New Normal)
การระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และได้แพร่กระจายสู่ประชากรทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม สูงถึงเกือบ 91 ล้านคน ในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การระบาดครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก และยังคงมีผลสืบเนื่องต่อมาในปี 2564 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกัน ในแง่ของความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีนักธุรกิจใจบุญมากมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อาทิ จอห์น ดี. ร็อกเกอะเฟลเลอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกันเจ้าของกิจการน้ำมันผู้ร่ำรวย และ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ มาจนถึงผู้นำธุรกิจในยุคปัจจุบันอย่างบิลและเมลินดา เกตส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสำหรับช่วยเหลือคนในประเทศกำลังพัฒนา และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลก ราชานักลงทุนและเจ้าของบริษัท Berkshire Hathaway
กล่าวได้ว่าสุขภาพนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบร่างสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพได้รับการพัฒนาผ่านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างบริการด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค แม้ว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อการมีสุขภาพที่ยั่งยืนจะเพิ่มขึ้น แต่เราสามารถคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจสุขภาพระดับโลกที่แข็งแกร่งสิบปีนับจากนี้ได้ โดยเป้าหมายการเป็นเศรษฐกิจด้านสุขภาพระดับโลกในปี พ.ศ. 2569 ไม่เพียงเป็นการผลิตสินค้าและบริการด้านสุขภาพสำหรับคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ในระบบเศรษฐกิจนี้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาสุขภาพสำหรับคนจำนวนมากเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ยังถือเป็นการลงทุนอีกด้วย